วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555


นกปรอดดำ 

นกปรอดดำ Hypsipetes leucocephalus (Black Bulbul) เป็นนกปรอดที่จำแนกได้ง่ายที่สุดในจำนวนนกปรอดทั้งหมดก็ว่าได้ เพราะมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครคือมีขนคลุมลำตัวทั้งหมดสีดำ โดยขนคลุมลำตัวด้านล่างจะสีจางกว่าด้านบนเล็กน้อย ปาก ขา และเท้าสีแดง นกตัวเมียสีจางกว่านกตัวผู้ นกตัวไม่เต็มวัยมีสีน้ำตาลทั้งตัวโดยปีกและหางจะมีสีเข้มกว่าส่วนอื่นๆ
นกปรอดดำมีความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง 23.5-26.5 เซนติเมตร ใหญ่กว่านกปรอดสวนที่เห็นได้ทั่วไปซึ่งมีขนาด17.5-19.5เซ็นติเมตรอยู่มากพอสมควรทีเดียว







อาหารของนกปรอดดำก็เหมือนนกปรอดอื่นๆคือกินลูกไม้สุก ดอกไม้ป่า หนอน แมลงขนาดเล็ก เราจะพบนกชนิดนี้เป็นคู่หรือฝูงเล็กๆ หรือเป็นฝูงใหญ่มากนอกช่วงฤดูผสมพันธุ์ หากินตามยอดไม้สูง ขยันหากิน ไม่ค่อยหยุดนิ่ง ตามป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา และป่าชั้นรองในระดับความสูง500-2565เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ในฤดูหนาวอาจลงมาหากินที่ระดับ120เมตรจากระดับน้ำทะเลได้

นกชนิดนี้ทำรังในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน ทำรังเป็นรูปถ้วยก้นตื้นตามกิ่งหรือง่ามไม้สูงจากพื้นดินราว2-6เมตร วางไข่ราว2-4ฟอง ขนาด 21.7x19.9มม. ทั้งพ่อและแม่นกช่วยกันทำรังฟักไข่เลี้ยงลูกอ่อนโดยเริ่มฟักตั้งแต่วางไข่ฟองแรกใช้เวลาฟักราว15วันและอยู่ในรังต่อราว14-15วัน







สำหรับประเทศไทย เราสามารถพบนกปรอดดำได้ 4 ชนิดย่อย ชนิดย่อยหลัก concolorซึ่งมีความหมายว่ามีสีเดียวเป็นชนิดที่เป็นนกประจำถิ่น อีก 3 ชนิดย่อยเป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งหาพบได้ยาก หากต้องการข้อมูลเกี่ยวกับชื่อชนิดย่อยและลักษณะ คลิกที่นี่

นกปรอดดำที่เป็นนกประจำถิ่นเป็นนกประจำถิ่นทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตก สถานที่ที่จะพบนกชนิดนี้ได้ง่ายๆได้แก่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร หน่วยช่องเย็นของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ดอยอินทนนท์ เป็นต้น







ภาพนกปรอดดำนี้ถ่ายมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว นกลงมากินน้ำที่บ่อน้ำเทียมที่เจ้าหน้าที่ของทางเขตฯทำเอาไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น